November 11, 2009

กราบนมัสการ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า


ต้นกำเนิดแม่น้ำมะขามเฒ่า ที่แยกตัวมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหน้าวัดปากคลองมะขามเฒ่า 


เขตรอยแยกตัวจากแม่น้ำเจ้าพระยา เป้นแม่น้ำมะขามเฒ่า ไหลผ่านตัวอำเภอวัดสิงห์ หันคา ไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี เรียกว่า "แม่น้ำสุพรรณบุรี" ไหลผ่านจังหวัดนครปฐม เรียก "แม่น้ำนครไชยศรี" จากนั้นไหลเข้าสู่จังหวัดสมุทรสาคร เรียก "แม่น้ำท่าจีน" แล้วไหลลงสู่อ่าวไทย ที่ อ. ท่าฉลอม  



ศาลาริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างใหม่บริเวณด้านหน้าวัด


แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลมาจาก ปากน้ำโพ หรือ จังหวัดนครสวรรค์


ภูเขาที่เห็นไกลๆนั่นคือ วัดเขาธรรมมูล 




ศาลาหลังใหม่ที่สร้างขึ้นเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อ รูปหุ่นขี้ผึ้ง ของหลวงปู่ และเสด็จกรมหลวงชุมพร เพื่อให้ประชาชนเข้ามากราบไหว้ สักการะบูชา และยังมีของใช้เก่าแก่ และรูปภาพเก่าๆ สมัยหลวงศุขยังมีชีวิตอยู่ นำมาตั้งให้ชมกันอีกด้วย เมื่อก่อนของเหล่านี้จะตั้งไว้ที่ศาลาหลังเก่าต้องเดินไปด้านหลัง ต่อมาทางวัดคงเห็นว่าศาลาเล็กและคับแคบเวลาที่มีผู้คนมากราบไหว้ หรือช่วงที่ทางวัดมีงานต่างๆ จึงได้ขยับขยายออกมาด้านหน้า 

ภาพถ่ายของหลวงปู่สุข ..เป็นภาพแรกที่พวกเราเห็นมากันตั้งแต่เกิด เดาน่าจะถ่ายไว้สมัยหลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ หลังจากหลวงปู่มรณะภาพไป ก็ได้ใช้รูปภาพนี้สำหรับกราบไหว้กัน จะเห็นว่ามีทองแปะเต็มไปหมด ก่อนที่จะมีรุปหล่อ และหุ่นขี้ผึ้ง


หุ่นขี้ผึ้ง ตัวที่ 2 เป็นหุ่นยืน หุ่นขี้ผึ้งตัวแรกเป็นหุ่นนั่ง อันนี้ลองสังเกตุด้านหลังหลวงปู่จะมีเมหือนตาเสือปรากฏ ซึ่งตอนถ่ายก็ดูแล้วว่าไม่มีสิ่งใดๆเลย เพราะในนั้นเป็นตู้กระจก ด้านหลังม่านก็ไม่มีอะไรตั้งอยู่ แต่ทำไมมีรูปหน้าเสือปรากฏ ทำเอาพวกเราแปลกใจมากเลย ยิ่งเคยอ่านประวัตของหลวงปู่ศุข ตอนท่านธุดงส์ในป่า เวลาท่านนั่งภาวนาในป่า จะมีเสือลายพาดกอนตอนเดินวนเวียนรอบหลวงปู่ฯ เพื่อปกป้องภับให้หลวงปู่ฯนั่งเจริญภาวนาโดยไม่มีสัตว์ร้ายใดๆรบกวน ...สาธุ



ประวัติโดยย่อ หลวงปู่ศุขพระเกจิอาจารย์วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท

นามเดิมท่านชื่อ ศุข นามสกุล เกษเวช ต่อมาลูกหลานได้ใช้ เกษเวชสุริยาก็มี เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีวอก วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๙๐ ที่บ้านมะขามเฒ่า (เรียกกันสมัยนั้น ต่อมาเปลี่ยนเป็นบ้านปากคลอง) ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท

โยมบิดาชื่อน่วม โยมมารดาชื่อทองดี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลนี้ มีบุตรและธิดาด้วยกัน ๙ คน (๑) หลวงปู่ศุข (๒) นางอ่ำ (๓) นายรุ่ง (๔) นางไข่ (๕) นายสิน (๖) นายมี (๗) นางขำ (๘) นายพลอย (๙) หลวงพ่อปลื่ม หลวงปู่นั้นท่านมีลุงคนหนึ่งชื่อแฟง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ตำบลบางเขน จังหวัดพระนคร (ในสมัยนั้น) มีอาชีพทำสวน ไม่มีบุตรหรือธิดาด้วยกัน จึงได้มาขอหลาน จากโยมหลวงปู่ศุข ไปเลี้ยง โยมหลวงปู่ศุขก็อนุญาต ให้ลุงเลือกเอา ลุงแฟงก็เลือกคนโต หรือเรียกว่าคนหัวปี คือหลวงปู่ศุข เข้าใจว่าอายุประมาณ ๑๐ ขวบ เมื่อหลวงปู่ศุขไปอยู่กับลุงแฟง เจริญเติบโตที่ตำบลบางเขน จนอายุได้ ๑๘ ปี ก็ได้ภรรยาคนหนึ่งชื่อสมบุญอยู่ครองคู่กันโดยประกอบอาชีพทำสวนต่อมาได้กำเนิดบุตรชาย ๑ คน ชื่อสอน

การอุปสมบทของหลวงปู่ศุขนั้นท่านได้อุปสมบทต่อเมื่ออายุ ๒๕ ปี ที่วัดโพธิ์บางเขน (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโพธิ์ทองล่าง) พระครูเชย จนทสิริ วัดโพธิ์บางเขน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระถมยาเป็นคู่สวด การอุปสมบทนี้โดยมีลุงแฟงเป็นผู้อุปการะทั้งสิ้น ส่วนโยมบิดามารดา ไม่ได้มาร่วมพิธีด้วยเพราะทางในสมัยนั้น ลำบากมาก จากชัยนาทถึงกรุงเทพฯ ก็กินเวลาอย่างน้อย ๒ - ๓ วัน จึงจะถึง

เมื่อได้อุปสมบทแล้วอยู่กับพระอุปัชฌาย์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยสมควรแล้ว ท่านก็ได้ออกเดินธุดงค์ หาที่สงบฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน และวิชาอาคมต่างๆ จากสำนักที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้น จนชำนาญดีแล้ว จึงลาอาจารย์กลับบ้านเกิดของท่าน มาพักอยู่ที่วัดร้างแห่งหนึ่ง ข้างหมู่บ้านของท่าน ชื่อ"วัดอู่ทอง" ปัจจุบันนี้เรียก "วัดปากคลอง" ชาวบ้านแถวนั้นมีความศรัทธาเลื่อมใส จึงได้นิมนต์ให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นั้น เพื่อจะได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่

ดังนี้ท่านจึงอยู่ ณ ที่นั้นมาจนท่านมรณภาพ ในระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ได้เริ่มพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรือง ด้วยจากวัดร้างที่ไม่มีอะไรเลย จนถึงพุทธาวาส ธรรมวาส และสังฆาวาส เป็นวัดที่สมบูรณ์แบบจนทุกวันนี้ ยังมีพระอุโบสถและมณฑปปรากฎอยู่ให้เห็น ส่วนการอบรมสั่งสอนนั้นท่านได้แนะแนวการประพฤติดีปฏิบัติชอบ ให้เห็นคุณและโทษของผลการปฏิบัติตนในทางที่ดี หรือไม่ดีอย่างไร จนประชาชนแถวนั้นมีความประพฤติดีมีศีลธรรมเป็นส่วนมาก

อนึ่ง มีผู้กล่าวว่าท่านมีวิชาอาคมเวทย์มนต์เก่งมาก สามารถเสกใบไม้ให้เป็นตัวต่อ ตัวแตน เสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย เสกก้านกล้วย ให้เป็นงูได้ และเรื่องอภินิหารของขลัง คงกระพันธ์ชาตรี มีอีกมาก จนถึงกับ สมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ในราชวงศ์จักรีได้มาทดลอง เห็นจริงจึงได้ยอมตนมอบตัวเป็นศิษย์ตั้งแต่นั้นมา และได้วาดภาพพุทธประวัติด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ที่อุโบสถด้านในหน้าอุโบสถ ซึ่งปรากฎจนทุกวันนี้

หลวงปู่ศุขท่านมีเมตตามาก จึงมีศิษย์เป็นอันมาก ที่มาเรียนวิชาเหล่านี้ ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็น "พระครูวิมลคุณากร" และเป็นเจ้าคณะแขวง (ปัจจุบันเรียกว่าเจ้าคณะอำเภอ) เป็นองค์แรกของอำเภอวัดสิงห์ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อได ท่านมรณภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ปีกุน ส่วน วัน เดือน ไม่ปรากฏชัด คำนวนอายุได้ ๗๖ ปี ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีชวด

วันสวดพุทธมนต์ทำศพ ทำอยู่ ๗ วัน ๗ คืน จึงประชุมเพลิง ปัจจุบันชาวจังหวัดชัยนาทผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ได้สร้างรูปหุ่นขึ้ผึ้งไว้ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า เพื่อจะได้สักการะโดยทั่วกัน กรมทหารเรือเห็นความสำคัญ จึงได้ซ่อมมณฑปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ทำให้ประชาชนทั้งใกล้และไกลต่างจังหวัด หลั่งไหลมาสักการะบูชาทุกวัน มิได้ขาด วัดปากคลองมะขามเฒ่าจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยนาท.

ขอบคุณที่มาของข้อมูล โดยได้รับแผ่นพลับประวัติย่อ ที่ทางทางวัดปากคลองทำแจก



ศาลาหลังเก่าที่เคยเป็นที่ประดิษฐานรูปหลวงปู่ฯ ที่นี่เมื่อก่อนนี้ ตอนนี้เห็นปิดไว้






เรือนวิมลคุณากร สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเรือนประทับรับรอง สำหรับพระบรมวงศ์ษานุวงศ์ ยามที่เสด็จมาที่วัดนี้้



ไม่แน่ใจว่าคือกุฎิ หรือ ห้องน้ำเก่าแก่ของหลวงปู่ฯ


นี่เป็นศาลาประทับของหลวงปู่หลังใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จ และได้อัญเชิญรูปปั้น ข้าวของเครื่องใช้ของหลวงปู่ฯ มาตั้งประดิษฐาน เพื่อให้ผู้คนกราบไหว้ และชมกันที่ศาลาแห่งใหม่นี้ค่ะ

เวลาที่พวกเราได้กลับไปเยี่ยมแม่ที่บ้านเกิด ที่อำเภอวัดสิงห์ ทุกๆครั้งจะต้องแวะมากราบไหว้ "หลวงปู่ศุข" วัดปากคลองมะขามเฒ่านี้เป็นประจำ เดี๋ยวนี้การเดินทางไปวัดง่ายและสะดวกกว่าสมัยก่อนๆหรือเมื่อครั้งที่พวกเราเป็นเด็กมาก ปัจจุบันทางเข้าวัดก็ตรงข้ามกับทางเข้าหมู่บ้านของพวกเรา เป็นถนนลาดยางตลอดจนถึงหน้าวัดเลยทีเดียว สมัยเด็กๆ จำได้ว่าไม่ค่อยได้ข้ามมาฝั่งวัดปากคลองบ่อยนัก (จากอำเภอวัดสิงห์ ไปวัดปากคลองฯจะมีแม่น้ำท่าจีนตัดผ่าน) สมัยเด็กทางเข้าวัด ถนนยังไม่ดีเหมือนปัจจุบัน ยังเป็นทางลูกรัง สองข้างทางก็เป็นป่ารก จะมาวัดนี้ก็ต่อเมื่อมีงานประจำปี หรือที่เรียกกันว่า งานวัด






รูปหล่อ และภาพถ่ายของหลวงปู่ฯ

ถ้าหากท่านใด ผ่านไปทางนั้นก็อย่าลืมกราบหลวงปู่ศุข ขอพรเพื่อเป็นศิริมงคลกันน่ะค่ะ

ท่าน้ำหน้าวัด ก็จะมีปลาสวายมากมายมารวมกันที่นี่ มีผู้คนเลยซื้ออาหารมาเลี้ยงปลากันมากมาย ตัวใหญ่มาก


หลานชอบซื้ออาหารให้ปลา




No comments: